
flat head syndrome (ภาวะศีรษะแบน)
flat head syndrome (ภาวะศีรษะแบน)
คือภาวะที่กระโหลกศีรษะ มีรูปทรงที่ผิดไปจากปกติ โดยการผิดปกตินี้มีได้ตั้งแต่ระดับที่เป็นเพียงแค่พื้นที่บริเวณศีรษะราบเล็กๆ ราบทางด้านข้าง ด้านใดด้านหนึ่ง หรือด้านหลัง มองเห็นไม่ชัดเท่าไหร่ ไปจนถึงภาวะที่กระโหลกศีรษะแบนทางด้านท้ายทอย (brachycephaly) หรือกระโหลกศีรษะเบี้ยวผิดรูป (plagiocephaly) อย่างชัดเจน ซึ่งอาจมีลักษณะอื่นๆ ด้วยคือ การที่หันหน้าไปทางด้านใดด้านเดียว ทำให้เกิดอาหารหูด้านที่โดนทับ จะพับเข้าไปด้านหน้ามากกว่าอีกข้าง และใบหน้าไม่ได้สมมาตร
โดยมากแล้วภาวะเหล่านี้จะเกิดจากการนอน มีแรงกดทับไปบริเวณใดบริเวณหนึ่งต่อเนื่องนานๆ บ่อยๆ ในช่วงระยะเวลาขวบปีแรกๆ ซึ่งช่วงระยะเวลานั้น กระโหลกศีรษะทารกยังไม่เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน
(ในช่วงแรกเกิดนั้น กระโหลกศีรษะประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้น มีส่วนกระหม่อมหน้าและหลังที่ไม่มีกระดูกหุ้ม ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้ง่ายต่อการบีบลดขนาดในขณะคลอดนั่นเอง และจะขยายตามเนื้อของสมองที่เพิ่มปริมาตรขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของชีวิต แต่เมื่ออายุมากขึ้นกระดูกเหล่านี้จะเชื่อมเป็นชิ้นเดียวกัน และจะเป็นกระดูกแข็งเต็มใบทั้งศีรษะ)
- นอกจากนี้ยังมีภาวะที่ต้องทำการรักษา เพราะมีความผิดปกติร่วมด้วย เช่น
- ภาวะคอเอียง (torticollis)
- กระดูกสันหลังคด (scoliosis)
- สมอง และระบบประสาทพัฒนาการช้า (developmental delay)
- ความผิดปกติของการมองเห็นหรือการได้ยิน
ข้างต้นเหล่านี้เป็นอาการที่ยกตัวอย่างมาเบื้องต้น ภาวะนี้พบได้บ่อยมากตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา แต่ว่าหลังจากช่วงปี 1990 เป็นต้นมา เกิดมีการตื่นตระหนกเกี่ยวกับเรื่องการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุของทารก (SIDS : sudden infant death syndrome) ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของเด็กวัย 2 สัปดาห์ ถึง 1 ปี ที่มีการพบมากที่สุด และมีความเกี่ยวข้องกับการนอนคว่ำ
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้พยายามจับเด็กนอนหงาย วิธีนี้อาจจะช่วยในเรื่องการลดโอกาสเกิด SIDS ได้มาก แต่ก็ทำให้เกิดความผิดปกติของรูปร่างทรงศีรษะทารกมากกว่าเดิมถึง 5 เท่า จาก 1 ใน 300 เป็น 1 ใน 60 และบางการศึกษาในประเทศแคนาดา หรือสหรัฐอเมริกา ช่วงก่อนปี 2000 ได้พบว่ามีเด็กที่มีภาวะนี้อยู่มากถึงกว่า 40%
ศีรษะของทารกนั้นจะอยู่ในท่าที่มีการกดเบียดตั้งแต่ในครรภ์ หรือการเบียดจากช่องคลอดในช่วงแรกคลอด ซึ่งจะมีผลทำให้เด็กทารกนั้นมีศีรษะเบี้ยว หรือผิดรูปได้อยู่แล้ว แต่จะค่อยๆ กลับมาสู่รูปทรงที่ปกติภายใน 6 สัปดาห์ หากหลังจากนี้ไปแล้ว บริเวณที่มีอาการเบี้ยว แบน ให้สงสัยเอาไว้ก่อนเลยว่าอาจมีภาวะนี้เกิดขึ้นก็เป็นได้
ภาวะนี้จะพบได้มากในเด็กที่นอนหลับมากๆ นอนหลับนานๆ คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่ศีรษะโต ซึ่งบริเวณที่แบนลงมา โดยส่วนมากจะกลับมานูนปกติ หลังจากทารกเริ่มพัฒนาไปนั่ง หรือคลาน ช่วงระยะอายุ ประมาณ 6 เดือน แต่บางครั้งนั้นอาจจะเป็นถาวรไม่กลับไปทรงเดิมเมื่ออายุมากขึ้น เพราะจากเดิมกระโหลกศีรษะทารกที่เคยนิ่ม จะเริ่มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นหากพบว่ากระโหลกศีรษะทารกมีอาการผิดปกติหลังจาก 6 เดือน จะต้องเข้าพบแพทย์
การแก้ไขนั้นก็สามารถทำได้ด้วยการเปลี่ยนท่านอน ไม่ให้น้ำหนักกดลงตรงจุดที่แบน ไปจนถึงต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ช่วย เช่น อุปกรณ์คล้ายหมวกนิรภัยเพื่อดัดปรับรูปทรงของศีรษะ หรือหมอนสำหรับรักษารูปทรงศีรษะ
คำแนะนำเพื่อการป้องกัน flat head syndrome
- แต่ละคืนเวลาทารกนอนให้จับเปลี่ยนทิศทางการนอนบ่อยๆ
- เวลาให้นมให้สลับข้างอุ้ม อย่าให้ท่าเดิม ท่าเดียวตลอด
- เวลาที่ให้ลูกนั่ง ต้องให้นั่งแบบที่มีอุปกรณ์ เช่น car seat ไม่ปล่อยให้นั่งเอง หรือนั่งในท่าพิงนานๆ
- เมื่อลูกตื่น ให้จับลูกคว่ำ (tummy time) บ่อยๆ
- ใช้หมอนหลุม หมอนหัวทุย หมอนที่ออกแบบในการรอบรับสรีระศีรษะเด็กช่วย แต่ใช้แล้วก็ต้องหมั่นดูท่านอน พลิกท่านอนของลูกด้วยเช่นกัน
วินัยในการดูแลเปลี่ยนท่าให้ลูกนอนนั้นสำคัญ เพราะหมอนหลุมหัวทุยนั้น สามารถช่วยลดแรงกดทับของศีรษะได้ ช่วยให้ลูกน้อยนอนถูกหลักรองรับสรีระของเด็ก แต่ถ้าลูกน้อยนอนท่าที่ชอบนานเกินไป ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน หมอนเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย แต่คุณแม่ต้องช่วยกันดูแลลูกน้อยด้วย หากเกิน 6 เดือนขึ้นไป หัวยังแบนอยู่ หมอนก็ไม่อาจช่วยได้ ต้องพบแพทย์เท่านั้น ป้องกันการหัวแบนของลูกน้อยไว้แต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ลูกหัวสวย ไร้กังวล
Cr.เรื่องเล่าจากโรงหมอ